เวลาเด็กน้อยอารมณ์เสีย โมโห เกรี้ยวกราด พฤติกรรมที่คุณผู้ใหญ่ต้องเจอคือ ร้องไห้โวยวาย และในบางสถานการณ์เด็กน้อยก็อาจจะลงไม้ลงมือกับสิ่งของและคนรอบข้างค่ะ
คุณพ่อคุณแม่หลายท่านที่เวลาลูกน้อยโมโห แล้วคุณพ่อคุณแม่ยอมให้ลูกน้อยลงไม้ลงมือตีคุณพ่อคุณแม่ เพราะคิดว่าเด็กโกรธให้ระบายออกมาบ้าง ตีพ่อตีแม่ดีกว่าไปทําร้ายตัวเอง ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องค่ะ
การตามใจแบบไม่มีขอบเขต คุณพ่อคุณแม่ยอมเป็นเครื่องมือระบายอารมณ์ให้กับลูกๆ เด็กน้อยไม่ได้เรียนรู้วิธีระบายอารมณ์ที่ถูกต้อง เมื่อเจอเหตุการณ์ไม่พอใจในสังคมนอกบ้าน ก็ไม่รู้วิธีจัดการกับอารมณ์ที่เหมาะสม ก็มีโอกาสที่จะไปทําร้ายคนอื่นเหมือนที่ทํากับคุณพ่อคุณแม่ได้ แต่คนอื่นก็คือคนอื่น ไม่ใช่พ่อไม่ใช่แม่ เขาก็มีโอกาสที่จะไม่ยอมถูกทําร้ายฝ่ายเดียว กลายเป็นปัญหาทะเลาะเบาะแว้งแทน
เมื่อเด็กน้อยอารมณ์ไม่ดี การอนุญาตให้เด็กน้อยระบายอารมณ์ออกมาเป็นสิ่งที่ดีค่ะ แต่ถ้าการระบายอารมณ์นั้นไปทําร้าย (ผู้อื่น/ตนเอง/สัตว์) หรือทําลาย (สิ่งของ) คุณผู้ใหญ่จําเป็นต้องหยุดพฤติกรรมนั้น
สมมติเช่น เด็กน้อยอารมณ์เสีย เริ่มทําลายของเล่น คุณผู้ใหญ่ต้องรวบมือเด็กน้อยไว้ พูดช้าๆชัดๆเสียงธรรมดาๆ “ของเล่นมีไว้เล่นค่ะ แม่ช่วยจับมือหนูไว้ก่อนนะคะ” เมื่อจับมือเด็กน้อยไว้ คุณผู้ใหญ่ต้องเตรียมใจว่า เด็กน้อยจะดิ้นมากขึ้น ร้องไห้มากขึ้นค่ะ อาจจะนานหลายสิบนาที แต่เราก็ยังคงต้องจับมือต่อไปเมื่อเห็นแววว่าเด็กน้อยเริ่มสงบ จึงค่อยปล่อยมือค่ะ “หนูเริ่มสงบแล้ว แม่จะปล่อยมือหนูแล้วนะคะ” เมื่อปล่อยมือแล้วพบว่าน้องยังคงมีพฤติกรรมทําลายของเล่นอยู่ คุณแม่ก็ต้องเริ่มจับใหม่ค่ะ แต่ถ้าน้องสามารถหยุดพฤติกรรมทําลายของได้ ก็พูดขอบคุณในความพยายามของเขาแทน