กฎเหล็กของคุณครู คือ เราจะไม่โจมตีเด็กด้วยคำพูด ดุ ด่า ว่ากล่าวที่ตัวเด็กค่ะ คุณครูผมเปียจะยกตัวอย่างคำพูดที่โจมตีที่ตัวเด็ก (person) ให้อ่านกันค่ะ เช่น “เป็นเด็กไม่น่ารักเลยทำตัวแบบนี้” “คุณแม่พูดทำไมไม่ฟัง ทำไมดื้อแบบนี้” “ครูสอนข้อนี้กี่ครั้งแล้วทำไมยังทำไม่ได้อีก เป็นเด็กที่โง่จริงๆ”
เป็นเด็กไม่ดี ไม่น่ารัก เป็นเด็กดื้อ โง่ งี่เง่า คำพูดเหล่านี้ล้วนเป็นคำพูดทางลบที่โจมตีที่ตัวเด็ก ที่คนพูดอาจจะพูดออกไปโดยไม่คิด พูดเพื่อความสะใจ หรือพูดเพื่อคิดว่าจะไปกระตุ้นให้เด็กทำตัวดีขึ้น แต่ในความเป็นจริง คำพูดทางลบเหล่านี้นอกจากจะทำร้ายความรู้สึกของเด็กๆแล้ว ยังทำให้เด็กๆคิดว่าพวกเขาเป็นคนแบบนั้นจริงๆ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการมองตนเอง (self-image) ส่งผลให้เด็กเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ (Self-esteem) และสุดท้ายเมื่อเด็กมองเห็นตนเองแต่ในแง่ลบ ก็จะหมดเรี่ยวแรงและกำลังใจที่จะพัฒนาตนเอง เพราะคิดว่าตนเองทำอะไรก็ไม่สำเร็จอยู่ดี ก็เลยเลิกทำสิ่งดีๆซะเลย
ดังนั้นเมื่อเด็กน้อยคนหนึ่งทำอะไรที่ผิดพลาดไป คุณครูจะตักเตือนให้เด็กน้อยเห็นถึงความผิดพลาดที่ตัวพฤติกรรมที่ผิด แทนการพูดต่อว่าที่ตัวเด็ก เช่น เด็กชายใบพัดตีน้อง แทนที่ตะโจมตีที่ตัวเด็กชายใบพัดว่า “เด็กนิสัยไม่ดีตีน้อง” คุณครูจะบอกเด็กชายใบพัดแทนว่า “การตีน้องเป็นสิ่งที่ไม่ดี” เพื่อให้เด็กชายใบพัดเห็นว่าพฤติกรรมการตีคนอื่นคือสิ่งที่ไม่ดี ไม่ใช่ว่าตัวเขาไม่ดีค่ะ
การทำผิดพลาดบางทีก็เป็นโอกาสให้เด็กน้อยได้เรียนรู้สิ่งที่ถูกค่ะ ตัวอย่างข้างต้น “การตีน้องเป็นสิ่งที่ไม่ดี” คุณผู้ใหญ่ก็ต้องสอนเพิ่มเติมว่า แล้วสิ่งไหนล่ะที่เป็นสิ่งที่ดี ที่สามารถทำได้ เช่น การลูบตัวน้อง กอดน้อง หรือถ้าเด็กชายใบพัดยังรู้สึกอยากใช้มือตีอะไรบ้างอย่าง เด็กชายใบพัดสามารถใช้มือตีกลองแทนได้ เป็นต้นค่ะ
การโจมตีที่ตัวพฤติกรรมนอกจากจะทำให้เด็กน้อยยังคงมองเห็นคุณค่าของความดีในตนเองอยู่ (ถึงแม้บางครั้งจะแสดงพฤติกรรมที่ผิดพลาดบ้างก็ตาม) ก็ยังช่วยให้เด็กน้อยเรียนรู้อีกว่า พฤติกรรมไหนที่ควรหรือไม่ควร ซึ่งจะช่วยให้เด็กน้อยแก้ไขพฤติกรรมที่ผิดให้เป็นถูกได้ง่ายขึ้นค่ะ