อีกหนึ่งรูปแบบการเลี้ยงดู นั้นคือ การเลี้ยงดูแบบตามใจ ลักษณะเด่นของคุณผู้ใหญ่ที่เลี้ยงเด็กแบบตามใจ คือ พ่ายแพ้ต่อเสียงโวยวาย ร้องไห้เอาแต่ใจของเด็กๆ ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่เด็กควรจะทำ แต่เมื่อเด็กร้องไห้เอาแต่ใจ คุณผู้ใหญ่ก็จะตามใจทันที เช่น ถึงช่วงเวลากินข้าว แต่เด็กอยากกินขนม คุณผู้ใหญ่กลุ่มนี้รู้ดีว่าขนมไม่ควรจะกิน การกินข้าวเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่พอเด็กร้องไห้ปุ๊บ ก็ตามใจให้กินขนมแทนทันที
อีกหนึ่งตัวอย่าง คือ เด็กกับคาร์ซีทค่ะ คุณผู้ใหญ่รู้ดีว่าเพื่อความปลอดภัย เด็กควรที่จะต้องนั่งคาร์ซีทเมื่ออยู่บนรถ คุณผู้ใหญ่กลุ่มนี้จะพยายามทำสิ่งที่ถูกต้องก่อน คือ พยายามเอาน้องนั่งคาร์ซีท แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่น้องร้องไห้ คุณผู้ใหญ่กลุ่มนี้ก็จะรีบเอาน้องออกมาจากคาร์ซีททันที
นอกจากจะพ่ายแพ้ต่อเสียงร้องไห้ของเด็กแล้ว คุณผู้ใหญ่กลุ่มนี้มักจะพึ่งพาตัวช่วยเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นขนม หรือของเล่นมาหลอกล่อเด็กเพื่อให้ทำพฤติกรรมที่ตนเองต้องการ เช่น ถึงเวลาอาบน้ำ น้องงอแง ไม่ยอมอาบ คุณแม่ก็เอาขนมมาล่อ ให้กินขนมก่อน น้องจะได้อาบน้ำ
การศึกษาแสดงให้เห็นว่า เด็กๆที่ถูกเลี้ยงดูมาแบบตามใจ จะเป็นเด็กที่ไม่ค่อยมีระเบียบวินัย ไม่เชื่อฟัง และเอาแต่ใจ ใช้พฤติกรรมก้าวร้าวในการควบคุมคนอื่น เด็กจะคิดว่าตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล คนอื่นๆจะต้องทำตามตัวเองเท่านั้น แต่เมื่อถึงเวลาที่จะต้องออกไปเผชิญโลกกว้างจริงๆ เช่น เข้าโรงเรียน เด็กจะพบความจริงว่า ตนเองไม่ได้เป็นศูนย์กลาง ตนเองไม่สามารถควบคุมคนอื่นได้เหมือนที่เคยควบคุมคนในครอบครัว ซึ่งอาจจะส่งผลในเรื่องทักษะทางสังคมตามมา
อีกสิ่งหนึ่งที่ควรระวัง คือ เด็กๆที่ถูกเลี้ยงดูแบบตามใจ เสี่ยงที่จะมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหา และเสี่ยงต่อการใช้สารเสพติดเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นด้วยค่ะ